แหล่งใจกลางช็อปปิ้ง

ย่านธุรกิจ "หลัวซือวัน" แหล่งใจกลางช็อปปิ้ง ระดับกลาง ในคุนหมิงที่แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยว พ่อค้า แม่ค้า ทั้งหัวแดง หัวดำ มาเลือกซื้อสินค้าไม่ต่ำกว่าวันละ 2 แสนคน เพราะที่นี่ คือ แหล่งศูนย์การค้าส่งและปลีก ขนาดใหญ่ที่สุดในคุนหมิง
นครคุนหมิง เมืองหลวงแห่งยูนนาน เมืองท่าใหญ่อันดับ 4 ของจีนรองจากเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกวางโจว ที่ทางการจีนหมายมั่นให้เป็นประตูการค้าทางตะวันตก หลังพัฒนาเส้นทาง R3e เชื่อมกับไทย ลาว เวียดนาม ลงสู่อาเซียน วางเป้าหมายสู่ฮับโลจิสติกส์ ค้าขายกับพันธมิตรที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีน
พลเมือง ราว 4 ล้านคน ยึดอาชีพการค้าในคุนหมิง ขณะที่ประชากรในยูนนาน มีเท่ากับ 45 ล้านคน มองเห็นลู่ทางการค้า พอๆ กับนักธุรกิจต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาเจาะตลาดแห่งนี้ ดังนั้นในแต่ละวัน นอกจากแผงขายสินค้าทั่วไปริมถนน ภาพคนขี่จักรยาน แร่ขายสินค้า ยังคงมีให้เห็น เพราะมันคือ วัฒนธรรมขายของดั้งเดิม ที่คนคุนหมิงกระทำมาตั้งแต่อดีต
แต่เมื่อโลกการค้ายุคเสรี ทางการยูนนาน มองเห็นศักยภาพการค้าในเมืองนี้ 'เมืองใหม่' แห่งคุนหมิง จึงถูกรีโนเวตขึ้นใหม่ พร้อมๆ กับการวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างสนามบิน โครงการรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่คาดว่า อีก 2 ปีแผนก่อสร้างทุกอย่างจะเสร็จสิ้น เพื่อให้ 'เมืองท่า' แห่งนี้ รองรับการค้าที่จะหลั่งไหลเขามาอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลธุรกิจ จากศูนย์การค้าไทย-จีน ประจำนครคุนหมิง บอกไว้ว่า รายได้การเติบโตของนครคุนหมิง เพิ่มขึ้นมาตลอด 3 ปีหลัง โดยปี 2005 อัตราเติบโตคิดเป็นมูลค่า เท่ากับ 347,234 ล้านหยวน ส่วนปี 2006 เพิ่มเป็น 400,190 ล้านหยวน ส่วนปี 2007 กำลังเก็บตัวเลขอยู่ แต่เชื่อว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
อัตราเติบโตมากขนาดนี้ จึงไม่ใช่แปลกใจสำหรับผู้บริหารบริษัท ยูนนาน เท็กส์ไทล์ คอร์ปอเรชัน จำกัด "เหลียนจง หัว" ที่ผันตัวเองจากรับจ้างสิ่งทอในอดีต เมื่อ 10 ปีหลัง มาสู่การสร้างคอมเพล็กซ์ ขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ "หยุนฝาน ชอปปิ้ง เซ็นเตอร์" ร่วมกับพันธมิตรจากเมืองไทย คือ "อำภา เจียรกิตติกุล" ประธานบริษัท บัวหิมะ (ประเทศไทย) จำกัด
มูลค่าการลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท แบ่งลงทุนฝ่ายละ 50:50 ก่อสร้างเป็นศูนย์กระจายสินค้าไทย ประจำเมืองคุนหมิง บนพื้นที่ 20,000ตารางเมตร พร้อมเปิดทำการในเดือนสิงหาคม 2551 เป็นความหวังที่ขั้วธุรกิจ จากไทย และจีน มองว่า จะประสบความสำเร็จอย่างมาก
ขนาดที่ว่า ตึกเฟสแรก สูง 22 ชั้น สร้างขึ้นพร้อมๆ กับตึกเฟสที่สอง ขนาดความสูงเท่ากัน เพื่อให้ทันรับความต้องการผู้ประกอบการที่จองบูธเต็มหมดแล้ว ประธานยูนนาน เท็กส์ไทล์ฯ 'เหลียนจง หัว' กล่าวอย่างมั่นใจว่า ศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้ จะสร้างความมั่งคั่งแก่นักธุรกิจ ที่เข้ามาค้าขายในศูนย์แห่งนี้ฯ โดยประเมินจาก ยอดขายในเขตหลัวซือวัน สูงถึงปีละ 5,000 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทย เท่ากับ 25,000 ล้านบาท
"ลูกค้าในย่านการค้าปลีกค้าส่ง ที่อยู่ติดกับศูนย์กระจายสินค้าไทยมีอยู่ 2 ประเภทคือ คนจากเมืองต่างๆ ของมณฑลยูนนานเอง ที่เดินทางมาซื้อสินค้า เพื่อนำไปกระจายยังเมืองต่างๆ ส่วนอีกประเภทคือนักธุรกิจจากมณฑลอื่นทั่วประเทศ เดินทางเข้ามาสำรวจสินค้าเพื่อนำไปกระจายยังถิ่นที่อยู่ของตนเอง" เหลียนจง หัว กล่าว

ดีไซน์+คุณภาพ จุดขายสินค้าไทย
ความตั้งใจจะปลุกปั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและกลุ่มสินค้าโอท็อป จากเมืองไทย ไปเปิดตลาดในศูนย์ฯนี้ เพราะมองเห็น 'ลู่ทาง' การขายสินค้าจากเมืองไทย ว่าปัจจุบัน วิถีบริโภคจีน รุ่นใหม่ มองหาความแตกต่าง จากสินค้าวางขายทั่วไปในท้องตลาด
ความต่างที่ว่าคือ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภค บริโภค เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ กระทั่งเครื่องประดับอย่าง เพชร ที่วันนี้ กลุ่มแพรนด้า จิวเวลรี่ หันมาให้ความสนใจเปิดตลาดย่านตะวันตกของจีนเพิ่มขึ้น หลังมีฐานผลิตในกวางโจว ย่านการค้าแถบตะวันออก และกำลังเล็งเปิดแบรนด์สินค้า รุ่นใหม่ อีก 3 ยี่ห้อในอนาคต
เพราะกำลังเจรจาระหว่างผู้ว่าการรัฐต่างๆ ให้เร่งดำเนินการปัญหาเรื่องภาษีนำเข้า และภาษีศุลลากร ให้เสร็จสิ้นก่อนปี 2553 ที่ภาษีลดลงเหลือ 0% ตามกฎ WTO 
อำภา บอกว่า พฤติกรรมบริโภคจากวัยรุ่นจีน เติบโตท่ามกลางความมั่งคั่ง ทำให้เลือกจะบริโภคสิ่งที่ดีที่สุด เพราะกำลังซื้อที่สามารถจ่ายได้
"มุมมองผู้บริโภคจีน ยุคนี้ การเอาใจใส่ 'คุณภาพ' สำคัญมาเป็นที่หนึ่ง และที่ผ่านมา สินค้าตีตรา "เมดอินไทยแลนด์" ชาวจีน ต่างยอมรับถึงในเรื่องนี้ ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทย ต้องการจะประสบความสำเร็จ เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพียงแค่มีการปรับปรุงขั้นตอนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น
...และหากมีการตกแต่งเรื่องของดีไซน์ และแพกเก็จ ให้ดูหรูหรา นั่นเป็นอีกทางหนึ่งที่จะประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เพราะกำลังซื้อที่รออยู่แล้ว ดังนั้น เรา (ผู้ประกอบการไทย) การเปิดตลาดที่นี่ ต้องจับตลาดพรีเมี่ยมเท่านั้น" 
ขณะที่ พิษณุ เหรียญมหาสาร รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าภูมิภาค (ฮับ) จีน คืออีกบุคคลหนึ่ง ที่คลุกคลีกับการค้าจีน-ไทย มานาน เผยว่า สินค้าไทยทุกรายการสามารถนำเข้าไปขายในประเทศจีนได้หมด แต่จะต้องเป็นสินค้าเน้นกลุ่มลูกค้าระดับบนเท่านั้น ซึ่งภาพลักษณ์สินค้าไทยในสายตาคนจีนดีมาก
เพราะความเชื่อมั่นในเรื่อง 'คุณภาพ' เดิม ยังดีอยู่ หากมีการปรุงแต่งให้ดีขึ้น เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จแน่นอน เช่นกลุ่มเแฟชัน ดีไซน์ใหม่ๆ จากไทย เราเรียนรู้ระบบจากเมืองแฟชัน ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี หรือฝรั่งเศส การยอมรับในระดับโลก ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนกลุ่มสินค้าบริการ ไม่ว่าจะเป็นสปา ภัตตาคาร ท่องเที่ยว สามารถมาทำธุรกิจได้ทั้งหมด
ส่วนภูสิต  เพ็ญศิริ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการค้า การลงทุนแผนใหม่ (ITDC) ประจำนครคุนหมิง บอกว่า จากผลสำรวจที่ศูนย์การค้าการ-ลงทุนแผนใหม่ มีอยู่พบสิ่งที่น่าสนใจ ที่จะเกิดขึ้นต่อภูมิภาคเอซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย จากการเสริมสร้างจุดยุทธศาสตร์แห่งประเทศไทยทางด้านการขนส่ง (Logistic) ตามถนน R3 หรือที่เรียกว่า "คุน มั่ง กง ลู่" เชื่อมระหว่างนครคุนหมิง-กรุงเทพฯและถนน R9 เชื่อมระหว่างภาคตะวันตกและตะวันออก ส่งผลให้การเชื่อมต่อทางการค้าและการลงทุน พบว่า
จีนเป็นประเทศที่ได้เปรียบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ประชากรชาวจีนระดับกลาง (Middle Class) เจริญเติบโตขึ้น 50 กว่าเปอร์เซ็นตามการโตต่อเนื่องทางเศรษฐกิจจีน ร้อยละ 9 ตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยคนรวยเติบโตเพิ่มตามไปด้วยเกือบ 10 เปอร์เซ็น คาดว่าเมื่อถึงปี ค.ศ. 2012 ต่ออีก 4-5 ปี ข้างหน้า กลุ่ม Middle Class จะขยายตัวเป็นกลุ่มคนรวยถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การเติบโตของคนรวยมีถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ...ลองมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เราจะได้อะไรกับการเติบโตเหล่านี้บ้าง นั่นคือโจทย์ใหญ่หรือทางการตลาด ที่เรียกว่า โอกาสแห่งความยิ่งใหญ่ต่อการเติบโตของประเทศไทยอย่างแน่นอนเพราะหากเราไม่ฉวยโอกาส ที่เปิดรออยู่แล้ว ...อาจส่งผลให้ตกขบวนรถด่วนเศรษฐกิจสายไปนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ...
Shopping Easy Fingertips
R3e Shopping Online